วันจันทร์ที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2560

6 อาการชวนเข้าใจผิดว่าลูกป่วย ลูกผิดปกติ


ลูกวัยแรกคลอดมักจะมีอาการหลายๆ อย่างที่บางครั้งพ่อแม่มักคิดว่าเป็นอาการผิดปกติ แต่จริงๆ แล้วเป็นอาการปกติที่เกิดจากการปรับตัวต่างๆ ของร่างกายเบบี๋ รู้ไว้จะได้ไม่กังวลมากค่ะ



1. ผิวเป็นรอยแดง ถ้าเป็นลักษณะแดงเส้นพันคล้ายโครงตาข่ายร่างแหเรียกว่า Cutis Meorata ซึ่งเกิดได้เองพบในทารกปกติทั่วไปเป็นได้ทั้งบริเวณใบหน้าและทั่วร่างกาย โดยสาเหตุเกิดจาก
ทารกอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิเย็นจะทำให้เส้นเลือดบวมแล้วเกิดเป็นรอยแดงที่ผิวขึ้นมา ถ้ารักษาอุณหภูมิร่างกายของเบบี๋ให้อุ่นขึ้น รอยแดงเป็นตาข่ายจะหายไปเอง
ผิวเด็กทารกแรกเกิดช่วงสองสามวันแรกกำลังผลัดผิว อาจมีขุยขาวๆ ลอกได้ทั่วตัวเป็นเรื่องปกติ และอาจทำให้ผิวเป็นรอยแดงตาข่ายได้ ควรดูแลทำความสะอาดแต่ไม่จำเป็นต้องขัดถู ผิวจะค่อยๆ ลอกหลุดออกเอง
เรื่องที่ต้องระวัง
รอยแดงไม่ปกติจะมีลักษณะเป็นจ้ำแดงๆ เป็นปื้นๆ ซึ่งอาจเกิดจากการเป็นโรคได้ ควรต้องพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอย่างละเอียด


2. หลังคลอดรูปทรงศีรษะบิดเบี้ยวไม่สวยงาม หัวไม่ทุย ไม่ได้รูปทรง ซึ่งลักษณะของศีรษะทารกแรกเกิดขึ้นกับปัจจัยดังนี้
จากพันธุกรรมจากพ่อแม่ว่าทรงและขนาดศีรษะเป็นอย่างไร
ท่าของทารกขณะอยู่ในครรภ์ ซึ่งอาจถูกกดหรือเบียดทำให้บิดเบี้ยว
ท่าขณะคลอดหากคลอดผ่านทางช่องคลอดแล้วเกิดมีปัญหาคลอดติด คลอดยาก ถูกกระดูกเชิงกรานกดศีรษะมาก อาจทำให้ศีรษะบิดเบี้ยวหรือเลือดออกใต้เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะจนบวมนูนอยู่ 2 – 3 วันทำให้ศีรษะดูเบี้ยว หรือเกิดจากโรคบางอย่างที่อาจทำให้ศีรษะผิดรูปได้
การนอนของทารก ก็อาจมีผลต่อรูปทรงของศีรษะได้หากนอนซ้ำท่าเดิมนานๆ เช่น นอนหงายท่าเดียวตลอด หรือนอนตะแคงข้างใดข้างหนึ่งนาน

เรื่องที่ต้องระวัง
การจัดท่านอนของทารกควรเปลี่ยนท่านอนทุก 3 ชั่วโมง และเวลานอนคว่ำต้องระวังทางเดินหายใจของทารกอย่าให้ถูกกดทับ


3. สะดือเปียกเบบี๋หลังคลอดที่ตัดสายสะดือแล้ว จะมีการดูแลสะดือทารกทันทีหลังคลอด โดยจะมีการสอนจากพยาบาลด้วยการใช้แอลกอฮอล์เช็ดเช้า-เย็นหลังอาบน้ำ และดูแลรักษาอย่าให้อับชื้นหลังตัดสะดือ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
แต่ถ้าสะดือยังเปียกอยู่อาจเกิดจากหลังตัดสะดือทันทีหลังคลอดจะมีน้ำ เลือด ทำให้สะดือเปียก หากดูแลไม่ดีอาจนำมาซึ่งการติดเชื้อที่สะดือของทารกได้

เรื่องที่ต้องระวัง
สะดือทารกแรกเกิดจะค่อยๆแห้งและหลุดออกเองได้ตั้งแต่สองสามวันแรกหลังคลอดหรืออาจหลุดช้าได้จนถึงอายุหลังคลอด6สัปดาห์ แต่ถ้าสะดือหลุดช้าควรพบแพทย์ เพราะอาจจมีการติดเชื้อหรืออาจพบโรคเกี่ยวกับระบบภูมิต้านทานผิดปกติได้(Leukocyte Adhesive Disorder)
แต่เป็นโรคที่พบน้อยมากที่สำคัญควรระวังอย่าให้สะดือเปียก อับชื้น มีกลิ่น แดงบริเวณผิวรอบสะดือ หรือมีน้ำไหลจากสะดือ รวมทั้งงดแคะสะดือ


4. ปัสสาวะเป็นสีชมพูเหมือนเป็นคราบเลือดบนผ้าอ้อมหรือที่นอน ต้องดูว่าใช่เลือดหรือไม่และเลือดออกจากบริเวณไหน บางครั้งเลือดออกมาจากบริเวณเยื่อบุผิวอ่อนๆ เช่นบริเวณอวัยวะเพศ อย่าเพิ่งตกใจเพราะอาจเกิดจาก

ผิวทารกที่บอบบางอาจเกิดการฉีกขาดได้ง่าย หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดใหม่ๆ ที่ระดับฮอร์โมนเพศหญิงที่เคยได้รับจากมารดาขณะอยู่ในครรภ์ลดลงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วหลังคลอดจึงทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดคล้ายประจำเดือนในทารกแรกเกิดได้

เรื่องที่ต้องระวัง
ต้องสังเกตสีปัสสาวะของเบบี๋ หากปัสสาวะมีสีแดงปนหรือเป็นสีชมพูต้องนำปัสสาวะไปตรวจว่าใช่เลือดหรือไม่ และดูว่ามีการอักเสบติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือมีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อหรือไม่ และที่สำคัญต้องดูด้วยว่ามีเลือดออกบริเวณอื่นๆ ภายในร่างกายด้วยหรือไม่ เนื่องจากอาจมีปัญหาจากระบบการแข็งตัวของเลือด


5. ขาโก่ง ทารกแรกเกิดจนอายุถึงสองปีอาจมีอาการขาโก่งได้สาเหตุเกิดจาก
สภาพปกติของร่างกายตามการเจริญเติบโตตั้งแต่ในครรภ์ที่มีการขดงอของขามานาน 9 เดือนแต่จะค่อยๆลดความโก่งลงได้เอง
เกิดจากภาวะขาดวิตามินดีและแคลเซียม ที่อาจมาจากได้รับสารอาหารไม่พียงพอขณะที่แม่ตั้งครรภ์ หรือเกิดจากโรคที่ทำให้วิตามินดีและแคลเซียมไม่เพียงพอทำให้พบอาการขาโก่งที่ผิดปกติได้

เรื่องที่ต้องระวัง
พอแม่ที่กังวลกลัวลูกขาโก่งอาจใช้วิธีการดัดขาลูก ซึ่งการดัดขาก่อนหรือหลังอาบน้ำหรือทุกเช้าไม่ได้ช่วยรักษาอาการขาโก่ง แต่สามารถทำได้เพื่อเป็นการสัมผัสกระตุ้นพัฒนาการหรือนวดผ่อนคลาย หลังอายุ 12 ปี ขาจะหายโก่งไปเอง แต่ถ้าไม่หายควรปรึกษาแพทย์


6. แหวะนม อาเจียน หลังเบบี๋กินนมแล้วอาจเกิดอาการแหวะนมได้ สาเหตุเกิดจาก
กล้ามเนื้อหูรูดบริเวณกระเพาะอาหารและหลอดอาหารยังไม่แข็งแรง ทำให้นมไหลย้อนออกมาได้
การนอนดูดนมนาน อาจส่งผลให้นมไหลย้อนออกได้ง่าย
กินนมมากเกินไป หรือดูดเร็วเกินไป อาจทำให้แหวะหรืออาเจียนออกมาได้

เรื่องที่ต้องระวัง
ควรให้นมเบบี๋ในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งเวลา ความถี่และท่าให้นม ในทารกแรกเกิดควรให้นมทุก 1 – 3 ชั่วโมง อยู่ในท่าที่ศีรษะสูง 35 องศา และหลังป้อนนมจับพาดบ่าหรือจัดให้ศีรษะสูงต่ออีกครึ่งชั่วโมง เมื่อลูกร้องไม่จำเป็นต้องป้อนนมทุกครั้งแต่ต้องสังเกตว่าร้องเพราะเหตุใด
 เพราะถ้าอาเจียนบวกกับมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ตัวร้อน ร้องไห้ไม่หยุด อาจเกิดจากการเจ็บป่วยอื่นๆ ได้ ควรรีบไปพบแพทย์

หายห่วงได้เพราะอาการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ไม่ควรชะล่าใจต้องหมั่นสังเกตอาการแปลกๆ ที่เกิดกับเบบี๋แรกคลอด เพื่อจะได้รักษาทันท่วงทีค่ะ#


ข้อมูลโดย พญ.สิริขวัญ โกศลเจริญพันธุ์ กุมารแพทย์ โรงพยาบาลปิยะเวท
นิตยสารรักลูก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น