วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

พหุปัญญา 8 ด้าน พัฒนาการกับภาวะโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต



พหุปัญญา 8 ด้าน พัฒนาการกับภาวะโภชนาการในช่วงแรกของชีวิต


     “ทฤษฎีพหุปัญญายังช่วยเปิดประตูไปสู่แนวทางการเรียนรู้ที่หลากหลายถึง  8 แนวทาง ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถนำไปผสมผสานและประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะนิสัยและความถนัดของเด็กๆ ได้”


พหุปัญญา 8 ด้านคืออะไร?

ศาสตราจารย์โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ มหาวิทยาลัยฮาร์เวิร์ด เป็นผู้เสนอ “ทฤษฎีพหุปัญญา” ซึ่งมีแนวคิดว่าความฉลาดของมนุษย์ แบ่งได้ 8 ด้าน ประกอบด้วย ความฉลาดด้านภาษา ความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ ความฉลาดด้านดนตรี ความฉลาดด้านร่างกาย ความฉลาด ดานมิติสัมพันธ์ ความฉลาดด้านมนุษยสัมพันธ์ ความฉลาดด้านเข้าใจตนเอง ความฉลาดด้าน รู้จักธรรมชาติ ซึ่งแต่ละด้านต่างก็มีความสำคัญเท่าเทียมกัน
พ่อแม่และครูควรค้นหาจุดเด่นของเด็ก ว่ามีความฉลาดทางด้านใดบ้าง แทนการยึดถือตามความเชื่อเดิมๆ ที่นิยามว่า “เด็กเก่ง”         คือ เด็กที่มีความฉลาดเพียงบางด้าน เช่น ด้านคณิตศาสตร์ ด้านภาษา โดยต้องทำความเข้าใจและอดทนที่จะสอนเด็กให้เหมาะกับวิธีการเรียนรู้ของเขา ถึงแม้ว่าอาจไมใช่เรื่องง่าย

เด็กทุกคนคือส่วนผสมของความฉลาดทั้ง 8 ด้าน 

แน่นอนว่าเด็กๆ แต่ละคนนั้นแตกต่างกัน และก็ควรจะได้รับการดูแลในรูปแบบที่แตกตางกันไป ทฤษฎีพหุปัญญาก็เป็นไปตามแนวคิดนี้เช่นกัน โดยหัวใจหลักของทฤษฎีนี้บ่งชี้ว่า เด็กแต่ละคนมีความสามารถที่แตกต่างกันไปในแต่ละด้าน และหากผู้ปกครองและครูค้นพบจุดเด่นของเด็ก ก็จะช่วยส่งเสริมให้เด็กแต่ละคนสามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น 
นอกจากนี้ ทฤษฎีพหุปัญญายังช่วยเปิดประตูไปสู่แนวทางการเรียนรู้ที่หลากหลายถึง               8 แนวทาง ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถนำไปผสมผสานและประยุกต์ให้เข้ากับลักษณะนิสัยและความถนัดของเด็กๆ ได้ โดยผู้ปกครองและคุณครูสามารถนำหลักการของทฤษฎีนี้มาใช้ได้ ด้วยการมองทักษะในแต่ละด้านให้เป็นเส้นทางในการพัฒนาที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน โดยเริ่มต้นจากการค้นหาว่าเด็กมีความถนัดในด้านใดบ้าง ก่อนที่จะนำเอาเทคนิคการเรียนการสอนที่เหมาะสมกับระดับความสามารถ ของเด็กในแต่ละด้านมาใช้งาน
ทั้งนี้ ทฤษฎีพหุปัญญาเสนอแนะว่า ผู้ปกครองและคุณครูควรให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ผ่านสื่อหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นเพลง กิจกรรมกลุ่ม งานศิลปะ การแสดงละคร การใช้สื่อมัลติมีเดีย ทัศนศึกษา การสะท้อนความคิดและอารมณ์ และอื่นๆ อีกมากมาย เมื่อเด็กๆ ได้รับข้อมูลหรือความรู้ในรูปแบบที่เข้าใจง่าย และตรงกับความถนัดของตนแล้ว พวกเขาก็จะเรียนรู้และพัฒนาตนเองไปได้อย่างรวดเร็ว 
โดยสรุปแล้ว เราอาจพูดได้ว่าแก่นแท้และเป้าหมายของทฤษฎีพหุปัญญานั้น ก็คือ การทำให้การเรียนรู้เป็นสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเด็กๆ โดยโครงสร้างของทฤษฎีนี้จะช่วยให้ผู้ใหญ่สามารถระบุและจำแนกความสนใจของเด็กได้ดียิ่งขึ้น

ความฉลาด 8 ด้านตามทฤษฎีพหุปัญญา

 ความฉลาดด้านภาษา

เด็กที่ฉลาดด้านภาษาสามารถเรียนรู้คำศัพท์ใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว               พวกเขาสนุกกับการต่อคำศัพท์และเกมสอนๆ ที่คล้ายคลึงกัน ในขณะเดียวกันก็ชื่นชอบโคลงกลอน เพลง       และนิทาน เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะเป็นนักพูดและนักเล่าเรื่องที่เก่ง 

จุดเด่นของเด็กที่ฉลาดด้านภาษา

ความฉลาดด้านภาษาบ่งบอกถึงความสามารถในการเรียนรู้ภาษาต่างๆ และความถนัดในการใช้ภาษาเพื่อสื่อสาร เด็กที่ฉลาดด้านนี้สามารถใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี แสดงความคิดเห็นได้อย่างชัดเจน เข้าใจง่าย และยังสร้างความเพลิดเพลินให้กับผู้ฟังอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือเขียน 
เด็กที่ฉลาดด้านภาษาจะพัฒนาตนเองได้ด้วยวิธีต่างๆ โดยเข้าใจคำศัพท์และใช้ภาษาได้เป็นอย่างดี มักใช้คำศัพท์หลากหลาย เรียนรู้ไวยากรณ์ได้อย่างรวดเร็ว และนำไปใช้ได้ดี จำและคิดเป็นภาษาหรือคำศัพท์ อธิบายเรื่องที่เกี่ยวกับตนเองได้ดี
กิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบ ได้แก่ อ่านหนังสือรวมกัน เล่านิทานหรือเรื่องราวต่างๆ ให้เด็กฟัง ชวนเด็กให้พูดคุยถึงสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว                 สนับสนุนให้เด็กอธิบายถึงสิ่งที่พวกเขามองเห็นหรือกำลังกระทำด้วยการพูดหรือเขียน              เปิดโอกาสให้เด็กพูดคุยกับคุณได้ทุกครั้งที่ต้องการ เล่นเกมที่เกี่ยวกับคำศัพท์
ของเล่นและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็ก ได้แก่ หนังสือ กระดาษ สมุดโน้ต ดินสอ ปากกา หนังสือพิมพ์ นิตยสาร พจนานุกรมคำพ้อง เกมคำศัพท์ สารานุกรม พจนานุกรม 

ผู้ปกครองจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ได้เรียนรู้ได้ดีขึ้นได้อย่างไร 

แน่นอนว่าเด็กในกลุ่มนี้เรียนร้ได้ดีที่สุดผ่านทางการฟัง พูด อ่าน เขียน ให้เด็กเข้าถึงแหล่งความรู้ต่างๆ ด้วยตนเอง เช่น หนังสือ สารานุกรมหรือเว็บไซต์ ผู้ปกครองควรอ่านหนังสือร่วมกับเด็ก และกระตุ้นให้เด็กถามคำถามทันทีที่สงสัยหรือไม่เข้าใจเนื้อหาในหนังสือ ให้เด็กนำเรื่องราวที่พวกเขาเคยอ่านหรือฟังมาแล้ว มาเล่าใหม่ โดยให้พวกเขาแสดงเป็นตัวละครต่างๆ ในเรื่องและคิดบทพูดให้เข้ากับสถานการณ์
วิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้คณิตศาสตร์ หากต้องการสอนวิธีบวกลบเลข ให้แต่งเรื่องว่ามีเด็กผู้ชาย 2 คน คนหนึ่งมีส้ม 3 ผล อีกคนมีส้ม 2 ผล ถ้าคนที่มีส้ม 2 ผลให้ส้มเด็กอีกคนไป 1 ผล ถามว่าเด็กแต่ละคนมีส้มคนละกี่ผล
วิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้วิทยศาสตร์               ให้เด็กเรียนรู้ถึงความสำคัญของป่าไม้ โดยการกระตุ้นให้เขาลองบรรยายถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น ถ้าต้นไม้และป่าไม้ถูกทำลาย เมื่อพาเด็กไปเที่ยวสวนสัตว์ ผู้ปกครองหรือครูควรชวนให้เล่นเกม 20 คำถาม เพื่อเดาว่าคุณกำลังถึงสัตว์ชนิดใดอยู่               ใช้เรื่องเล่าเกี่ยวกับเซอร์ไอแซค นิวตัน และผลแอปเปิ้ลที่หล่นจากต้นไม้ เป็นเครื่องมือในการอธิบายคำว่า แรงดึงดูด 
วิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ภูมิศาสตร์ สอนเด็กให้เรียนรู้คำว่า สวัสดี ขอบคุณ และลาก่อน ในภาษาต่างๆ และอธิบายว่าภาษาเหล่านี้มาจากประเทศใดบ้าง เมื่อพาเด็กไปเที่ยวทะเล ให้เด็กอธิบายสภาพแวดล้อมและสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ชายหาด ต้นมะพร้าว หรือเปลือกหอย ให้เด็กสวมบทบาทเป็นนกที่กำลังเดินทางไปโรงเรียนหรือไปซื้อของ และบรรยายว่าตนเองเห็นอะไรบ้าง ขณะที่บินอยู่ 

 ความฉลาดด้านคณิตศาสตร์และตรรกะ

ความฉลาดด้านนนี้เกี่ยวกับความสามารถในการนำตรรกะมาแก้ปัญหาจำแนกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นแบบแผนได้ ชอบแก้โจทย์คณิตศาสตร์และเรียนรู้ปรากฎการณ์ทางวิทยาศาสตร์ เด็กที่ฉลาดทางด้านนี้จะชอบเล่นเกมส์ที่ต้องแก้ปัญหาทุกชนิด และสามารถเชื่อมโยงเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ อย่างไม่ยากเย็นนัก 

จุดเด่นของเด็กที่ฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์

ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ หมายถึง ความสามารถในการทำความเข้าใจ วิเคราะห์ และแก้ปัญหาโดยใช้เหตุผลแก้โจทย์คณิตศาสตร์ และวิเคราะห์สถานการณ์โดยใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นพื้นฐาน โดย ดร.การ์ดเนอร์ ได้กล่าวว่า ความฉลาดด้านนี้ มีคุณสมบัติพื้นฐานคือ ความสามารถในการค้นหารูปแบบและการคิดอ่านอย่างเป็นเหตุเป็นผล 
ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์ มักถูกมองว่ามีผลโดยตรงต่อความสามารถทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของเด็ก 
เด็กที่ฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์จะพัฒนาตนเองได้ด้วยวิธีต่างๆ โดย              เข้าใจเรื่องตัวเลขได้รวดเร็ว เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลได้ดี        เมื่อเผชิญสถานการณ์ที่ซับซ้อน เด็กสามารถแยกแยะ จัดลำดับและเข้าใจรูปแบบของสิ่งที่เกิดขึ้น มีทักษะในการแก้ปัญหา 
กิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบ ได้แก่ การแก้ปริศนา การวัดและการสำรวจสิ่งต่างๆ การทดลองเพื่อค้นหาเหตุและผล การใช้สัญลักษณ์และสูตร การคำนวณ
ของเล่นและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็ก ได้แก่ เกมปริศนาต่างๆ โดยเฉพาะประเภทที่มีการคิดคำนวณ มีตัวเลขเกี่ยวข้อง หรือต้องอาศัยการจัดลำดับ เครื่องมือวัดค่าต่างๆ สมุดภาพระบายสีตามตัวเลข เกมปริศนาที่เกี่ยวกับตัวอักษร และการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ผู้ปกครองจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้นได้อย่างไร เด็กที่มีความถนัดในด้านนี้จะเรียนรู้ผ่านการแก้ปัญหาหรือการสังเกตหาหลักการและรูปแบบต่างๆ ได้ดี ให้เด็กลองคิดหาเหตุผลเบื้องหลังสิ่งต่างๆ   ถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้เด็กใช้ความคิดอย่างต่อเนื่อง ช่วยตอบคำถามประเภท อะไร ทำไม เมื่อไหร่ ที่ไหน และอย่างไร นำเสนอเรื่องราวหรือประเด็นต่างๆ ในรูปของเหตุและผล ชี้ให้เด็กสามารถจดจำรูปแบบทางตรรกะและคณิตศาสตร์ในเนื้อหาการเรียนการสอน ช่วยให้เด็กแบ่งแยกสิ่งที่ได้เรียนรู้มาออกเป็นหลายขั้นตอน และค้นหาสิ่งที่เชื่อมแต่ละขั้นตอนเข้าด้วยกันให้เป็นหนึ่งเดียว
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้คณิตศาสตร์               เด็กประเภทนี้จะเรียนคณิตศาสตร์เก่งโดยธรรมชาติอยู่แล้ว แต่การเรียนการสอนควรจะเน้นย้ำถึงเหตุผลและลำดับความคิดในการคำนวณด้วย แทนที่จะไปมุ่งเน้นแต่การท่องจำกระบวนการ 
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้วิทยาศาสตร์ ให้วัดอุณหภูมิของน้ำร้อนและน้ำแข็ง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน ให้เด็กแบ่งโมเดลสัตว์เป็นหมวดหมู่ตามลักษณะที่เห็น เช่น สัตว์บก แมลง เป็นต้น 
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้ภูมิศาสตร์ เมื่อเด็กรับประทานผลไม้ ผู้ปกครองก็อาจไล่ลำดับเหตุการณ์ว่ามะม่วงมาจากที่ใด เช่น มะม่วงซื้อมาจากไหน ปลูกในจังหวัดอะไร เติบโตด้วยน้ำจากแม่น้ำใด แม่น้ำมีต้นน้ำอยู่ที่ไหน และก็ให้เด็กลองวาดภาพลำดับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง

 ความฉลาดด้านดนตรี

เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีจะไวต่อเสียงและสามารถเชื่อมโยงระหว่างเพลงและเครื่องดนตรีได้ พวกเขาชอบร้องเพลงและมักใช้เทคนิคในการเรียนรู้ผ่านบทเพลงและจังหวะ 

จุดเด่นของเด็กที่ฉลาดด้านดนตรี 

ความฉลาดด้านดนตรี คือ ความสามารถด้านการแสดง การประพันธ์ และความรู้สึกชื่นชอบในดนตรีรูปแบบต่างๆ ที่เชื่อมโยงเรื่องเสียง ดนตรี และรูปแบบเข้าไว้ด้วยกัน เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีจะฟังและซึมซับเสียงได้ ในขณะเดียวกันยังคิดเป็นจังหวะและรูปแบบได้ และสามารถจดจำและนำไปใช้ได้อีกด้วย ซึ่งทำให้เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีสามารถจดจำและแต่งท่วงทำนอง จังหวะ และระดับเสียงดนตรีได้นั่นเอง 
เด็กที่ฉลาดด้านดนตรีจะพัฒนาตนเองได้ดีด้วยวิธีต่างๆ โดยพวกเขามีทักษะในการฟังที่ดีเยี่ยม และแยกแยะความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ ได้อย่างง่ายดาย พวกเขามักหลงเสน่ห์ดนตรีและเสียงเพลง ทำให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเป็นคำคล้องจองหรือเป็นแบบแผน ในขณะที่คนอื่นทำไม่ได้ พวกเขาซึมซับและจดจำข้อมูลเป็นแบบแผนและบทกลอนหรือคำคล้องจอง 
กิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบ ได้แก่ ฟังเพลง ร้องเพลงและทำจังหวะตาม ชอบตัวเลขและทฤษฎีเกี่ยวกับตัวเลขเมื่อโตขึ้น ชอบเรียนรู้ไขปริศนา และถอดรหัสสัญลักษณ์ต่างๆ 
ของเล่นและอุปกรณ์การเรียนการสอนที่เหมาะกับเด็ก ได้แก่ หนังสือเพลงและจังหวะต่างๆ เกมส์ตัวเลข เกมส์จำพวกคำศัพท์ และเกมส์ที่ต้องใช้สายตา เกมส์สัญลักษณ์และรหัสต่างๆ เพลงจากหลากหลายชาติ เครื่องดนตรีสำหรับเด็ก เช่น ระนาดหรือกลอง เป็นต้น 

ผู้ปกครองจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้นได้อย่างไร 

วิธีที่ดีที่สุด คือ ส่งเสริมให้ฟังเพลง ท่วงทำนอง จังหวะ และรูปแบบดนตรีในลักษณะต่างๆ กัน หาหนังสือที่มีเสียงสัมผัสให้ลูกได้อ่าน ช่วยส่งเสริมให้ลูกเรียนรู้และจดจำสิ่งต่างๆ เป็นเสียงดนตรี หาเกมส์เกี่ยวกับตัวเลขและรูปทรงมาให้ลูกเล่น สอนเรื่องรูปทรงต่างๆ ให้ลูกเมื่อเห็นสิ่งของต่างๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้เรื่องรูปทรง 
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้วิทยาศาสตร์              ให้เด็กใช้สื่อมีเสียงนำสิ่งรอบตัวทำให้เกิดเสียงที่แตกต่างกัน 
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้ภูมิศาสตร์   สอนเรื่องวัฒนธรรมและเครื่องดนตรีที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์และเปิดโลกทัศน์ให้แก่เด็ก เช่น เรื่องกลองที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ รวมทั้งวิธีเล่นและเสียงที่หลากหลายแตกต่างกันออกไป 

 ความฉลาดด้านร่างกาย

ความฉลาดด้านนี้มีความหมายตรงกับชื่อ คือ เป็นเด็กที่แข็งแรง สามารถทำกิจกรรมและเคลื่อนไหวได้แคล่วคล่องว่องไว ชอบแสดงออก และสนุกกับกิจกรรมเกี่ยวกับกับศิลปะและงานฝีมือ 

จุดเด่นของเด็กที่ฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว 

ความฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว คือ ความสามารถในการควบคุมและแสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก โดยใช้อวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดย ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ กล่าว่า ทั้งร่างกายและจิตใจต้องสัมพันธ์กัน 
เด็กที่ฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหวจะพัฒนาตนเองได้ด้วยวิธีต่างๆ โดยพวกเขาตอบสนองสิ่งเร้าทางกายภาพได้ดี พวกเขาใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่และกล้ามเนื้อมัดเล็กได้อย่างยอดเยี่ยม พวกเขามักเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่เรียนรู้ ทำให้อาจดูเหมือนนั่งนิ่งๆ ไม่ได้ 
กิจกรรมที่เด็กกลุ่มนี้ชื่นชอบ ได้แก่ กิจกรรมแทบทุกประเภทที่ได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้ลงมือทำและสัมผัสสิ่งของจริงๆ กิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ กิจกรรมการทำสวน กิจกรรมที่ต้องเคลื่อนไหวร่างกายต่างๆ เช่น ปีนเขา ปีนจักรยาน กระโดดโลดเต้น หรือแม้กระทั่งการคลานเล่น เป็นต้น กิจกรรมนอกร่มที่ได้เคลื่อนไหวและใช้กล้ามเนื้อ เช่น ปีนจักรยานสามล้อ หรือเดินเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ในสวน เป็นต้น กิจกรรมอื่นๆ ที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกายเต็มที่ 
ของเล่นและอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ได้แก่ ของเล่นประเภทที่เด็กต้องหยิบจับและขยับร่างกายบ่อยๆ ของเล่นชุดเครื่องมือก่อสร้าง ตัวต่อเลโก้ ดินเหนียว / ดินน้ำมันสำหรับปั้นเป็นรูปทรงต่างๆ ชุดการทดลองวิทยาศาสตร์ 

ผู้ปกครองจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ให้เรียนรู้ได้ดีขึ้นอย่างไร 

หากกิจกรรมที่เด็กได้เคลื่อนไหวร่างกาย ใช้กล้ามเนื้อสร้างความแข็งแกร่งให้กับร่างกายให้เด็กทำ เพราะถือเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่พัฒนาเด็กที่ฉลาดด้านนี้ ให้เด็กเรียนรู้ด้วยการแสดงท่าทาง เคลื่อนไหวร่างกายหรือออกกำลังกายให้มากที่สุด ช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ด้วยการทำการทดลองจริงให้ได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ โดยการฝึกใช้วัตถุ เป็นต้น ส่งเสริมให้เด็กได้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการเรียนรู้และทดลองอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสเด็กได้เดินคิดไปมาและตัดสินใจด้วยตนเอง ในขณะเรียนรู้สิ่งต่างๆ บางครั้งเด็กอาจจะรู้สึกลำบากมาก หากต้องนั่งคิดนิ่งๆ 
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้คณิตศาสตร์               เริ่มจากการสอนบวกลบง่ายๆ ให้กับเด็กด้วยการนำกลองขนาดต่างๆ และเซ็ตลูกบอลมาให้เด็กใช้ เพื่อแสดงการบวกลบ โดยเพิ่มหรือลดจำนวนลูกบอลในกล่องได้ สอนเรื่องรูปทรงเรขาคณิต (วงกลม สามเหลี่ยม สี่เหลี่ยม) โดยให้ทำมือเป็นรูปทรงต่างๆ
ตัวอย่างวิธีสอนให้เด็กกลุ่มนี้เรียนรู้วิทยาศาสตร์              นำสิ่งที่มีในบ้าน เช่น เกลือและน้ำ หรือสิ่งที่แตกต่างกันทางกายภาพ เช่น น้ำร้อนและน้ำเย็น เป็นต้น มาให้เด็กทดลอง สอนเด็กให้เรียนรู้เกี่ยวกับร่างกายของมนุษย์ โดยให้เขาวาดรูปตัวเองบนกระดาษแผ่นใหญ่ หรือพื้น แล้วให้เขาเคลื่อนที่ไปและระบุชื่ออวัยวะให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 

แพทย์หญิงนลินี เชื้อวณิชชากร
กุมารแพทย์ด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น